คุณโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ BOI
คุณประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล รองประธานหอการค้าไทยในจีน
Ms. Jia Xiaofang นายกสมาคม China International Health and Medical Tourism
ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน
สื่อมวลชนจีน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมมีความยินดีที่ในวันนี้ได้มีโอกาสนำนายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของจีนและคณะสื่อมวลชนจีนมาพบกับผู้แทนฝ่ายไทย ก่อนอื่น ผมขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่ได้อำนวยความสะดวกและให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการจัดสัมมนาโต๊ะกลม และขอบคุณท่านผู้แทนจากหน่วยราชการและโรงพยาบาลเอกชนที่มาร่วมงานทุกท่าน
ผมขอเรียนให้ทุกท่านทราบถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาโต๊ะกลมในวันนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ กรุงปักกิ่ง ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ศักยภาพของไทยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นและนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับศักยภาพและโอกาสของความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจีน
ปัจจุบัน จีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนมีความใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ชาวจีนที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income) ก็นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเกาหลีใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการรับบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายตั้งแต่การทำศัลยกรรมตกแต่ง การตรวจร่างกาย จนถึง การรักษาโรคมะเร็ง ระหว่างปี 2551- 2555 มีชาวจีนมารับบริการที่ไทยประมาณ 400,000 คน ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 7 ตามหลังญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เอเชียใต้ อังกฤษ ตะวันออกกลาง และอาเซียน
ด้วยมาตรฐานทางการแพทย์และประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการให้บริการของไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ไทยย่อมเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพและการแพทย์ในระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้ใช้โอกาสนี้พัฒนาความร่วมมือในสาขาดังกล่าว
นโยบาย Medical Hub
นโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) ของไทยในภูมิภาคเอเชียเป็นนโยบายที่มีการดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourist) และเชิงสุขภาพ (health tourist) ที่เลือกมาประเทศไทยเพื่อรับบริการที่ได้มาตรฐานและค่าบริการที่เหมาะสม
ปัจจุบัน นโยบายด้าน medical hub ของไทยครอบคลุม 1) บริการรักษาพยาบาล 2) บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 3) บริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ 4) สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบด้านนโยบายซึ่งทุกท่านจะได้รับฟังการบรรยายจากผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในช่วงสายของเช้าวันนี้
ภาคเอกชนของไทย
ในส่วนของภาคเอกชนไทย โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ และผู้ประกอบการนวดแผนไทยและสปา มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทย โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายรายมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าต่างชาติมาหลายปี แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและคุณภาพของการบริการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ปัจจุบัน ไทยมีสถานพยาบาลเกือบ 30 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Joint Commission International Accreditation (JCIA)
โรงพยาบาลเอกชนที่รองรับลูกค้าชาวต่างชาติมีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ มีการเปิดศูนย์บริการเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจง เช่น ศูนย์โรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศด้วย
ในด้านบุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ไทยมีฝีมือเทียบเท่ากับระดับโลกและมีแพทย์ไทยที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับของหลายๆ ประเทศ
การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในบริบทของความสัมพันธ์เศรษฐกิจ ไทย – จีน
การส่งเสริมและเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระหว่างไทยและจีนจะมีนัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวและการแพทย์แล้ว ยังเป็นโอกาสด้านธุรกิจและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วย เช่น โอกาสของการลงทุนในอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งทาง BOI จะนำเสนอในช่วงต่อไป หรือโอกาสสำหรับ รพ. ไทยในในตลาดจีน ซึ่งเราจะได้รับฟังจากนายกสมาคมการท่องเที่ยวของจีนต่อไป
ประเทศไทยและจีนมีความใกล้ชิดกัน รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามาถึงช่วงที่ดีที่สุดช่วงหนึ่ง ไทย-จีนมีความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและมีความสัมพันธ์ลักษณะพิเศษ – 中泰一家亲 – และเป็นที่แน่นอนว่าจีนเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของไทย เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 และตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้าในปีที่ผ่านมากว่า 7 หมื่นล้าน
เหรียญ การลงทุนสะสมของจีนในไทยในช่วง 2550 – 2555 มีมูลค่า USD 7 พันล้าน ด้านการท่องเที่ยว ปี 2556 มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยจำนวน 4.7 ล้านคน เชื่อว่าในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา สถานการณ์บ้านเมืองของไทยอาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนและนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ และชะลอการเดินทางหรือการลงทุนในไทย ผมขอใช้โอกาสนี้ย้ำว่าทุกอย่างเป็นปกติดี ซึ่งสื่อทุกท่านจะได้เห็นและสัมผัสด้วยตนเอง ไทยมีนโยบายบริหารระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร นโยบายทางเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ เช่น มูดีส์ ยังคงยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทย (Baa1) สำหรับเครดิตประเทศไทยฟิทช์เรตติ้งยังคงเรตติ้งเดิม (BBB+) โดยทั้งสองสถาบันมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งยังคงมีความโดดเด่นและแข็งแกร่งกว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ อัตราการว่างงานต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถประคองสถานการณ์ไปได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ผมหวังว่าจะเป็นการเน้นย้ำและสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกท่านว่าการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนจะดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก
ท้ายสุดนี้ ขอเรียนว่า ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เรามีทีมเศรษฐกิจที่ครบถ้วนเต็มรูปแบบ ทั้งฝ่ายพาณิชย์ ฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ฝ่ายเกษตร ผู้แทนสำนักงานการท่องเที่ยว และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานทีมเศรษฐกิจของไทยยินดีและพร้อมให้ข้อมูล คำปรึกษาและช่วยเหลือทุกท่านตลอดเวลา
ผมขอให้การสัมมนาโต๊ะกลมในวันนี้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ขอบคุณครับ