ถาม-ตอบประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

ถาม-ตอบประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

ข้อเท็จจริงจากกระทรวงการต่างประเทศ

ถาม-ตอบประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

(20 พฤษภาคม 2554)

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ศาลโลก” ตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินไปเมื่อ ปี 2505 โดยระบุว่า ไทยกับกัมพูชามีประเด็นที่เห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของ คำพิพากษาดังกล่าว และขอให้ศาลตัดสินว่า พันธกรณีของไทยที่จะต้องถอนทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแล ออกจากปราสาทหรือบริเวณใกล้เคียงปราสาทในดินแดนกัมพูชานั้น เป็นผลมาจากพันธกรณีทั่วไปของไทยที่จะต้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา ซึ่งดินแดนนั้นได้มีการกำหนดขอบเขตในบริเวณปราสาทและพื้นที่ใกล้เคียงแล้วโดยแผนที่ภาคผนวก 1 (กล่าวคือ แผนที่สัดส่วน 1:200,000 ระวางดงรัก) ซึ่งฝ่ายกัมพูชาอ้างว่า ศาลใช้เป็นพื้นฐานของคำตัดสิน ขณะเดียวกัน กัมพูชาได้มีคำขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวตามข้อ 41 ของธรรมนูญศาลโลกในระหว่างที่ศาลพิจารณาคำขอตีความด้วย โดยมาตรการที่ฝ่ายกัมพูชาขอจากศาล ได้แก่

ก) ขอให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดจากส่วนต่าง ๆ ของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

ข) ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใด ๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ

ค) ให้ไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ที่กระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในคดีการตีความ จนกว่าศาลโลกจะดำเนินการตีความคำพิพากษาแล้วเสร็จ

โดยที่เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสาธารณชนไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงขอให้ข้อมูลต่อประเด็นข้อสงสัยในเบื้องต้น ดังนี้

1. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ไว้อย่างไร

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้พิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และให้ประเทศไทยถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแล ออกจากปราสาทพระวิหารและในบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตของกัมพูชา รวมทั้งให้คืนวัตถุที่เจ้าหน้าที่ไทยได้โยกย้ายไปจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณพระวิหาร ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวไปแล้ว

—————————

2. ทำไมกัมพูชาจึงยื่นคำขอตีความคำพิพากษาที่ตัดสินเกือบ 50 ปีที่แล้วได้อีก

ธรรมนูญศาลโลก (ข้อ 60) ระบุว่า ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลโลกจะต้องตีความหากมีภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ซึ่งการยื่นขอตีความสามารถกระทำได้โดยไม่มีกรอบเวลา ต่างจากการขอทบทวนคำพิพากษา ซึ่งต้องยื่นคำขอภายใน 10 ปีนับจากวันที่ศาลโลกมีคำพิพากษา

—————————

3. มาตรการชั่วคราวคืออะไร

ธรรมนูญของศาลโลก (ข้อ 41) ให้อำนาจแก่ศาลว่า หากเห็นว่าสถานการณ์จำเป็น ศาลสามารถออกมาตรการชั่วคราวเพื่อปกป้องสิทธิของรัฐคู่กรณีได้ โดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีมีคำขอเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้ระบุเหตุผลว่า หากไม่มีมาตรการชั่วคราวและมาตรการที่ร้องขอ จะเกิดผลกระทบอย่างไร ซึ่งศาลจะพิจารณาเรื่องนี้ก่อนคดีหลัก ผลที่ออกมา ศาลอาจปฏิเสธคำขอ หรืออาจออกมาตรการบางส่วนหรือทั้งหมดตามที่ขอ หรือเห็นควรออกมาตรการอื่น ๆ ที่คู่กรณีฝ่ายที่ขอควรจะต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ นอกจากนี้ ระหว่างที่ยังพิจารณาคดีอยู่ หากมีคำขอจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศาลก็อาจจะพิจารณายกเลิกหรือปรับเปลี่ยนคำตัดสินเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวได้ หากเห็นว่าสมเหตุสมผลกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยจะให้คู่กรณีแต่ละฝ่ายนำเสนอความเห็นก่อน

—————————

4. ไทยจำเป็นต้องไปศาลโลกหรือไม่

หลังคดีปราสาทพระวิหารแล้ว ไทยไม่ได้ให้การยอมรับอำนาจของศาลโลกอีก ซึ่งหมายถึงการยอมรับอำนาจในคดีใหม่ ส่วนการยื่นคำขอต่อศาลโลกของกัมพูชาในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีใหม่ แต่เป็นการตีความคดีเก่าที่ศาลได้ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505 ซึ่งไทยได้ยอมรับอำนาจศาลแล้ว จึงเป็นการถ่ายทอดมาจากคดีเดิม ทั้งนี้ การยอมรับดังกล่าวครอบคลุมถึงการที่ศาลจะตีความและออกมาตรการชั่วคราวใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีหลักนี้ด้วย ดังนั้น คำพิพากษาจึงมีผลผูกพันไทย เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจึงต้องไปนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงและชี้แจงเพื่อรักษาปกป้องผลประโยชน์และสิทธิต่อคณะผู้พิพากษาศาลโลก มิฉะนั้นแล้ว ศาลจะพิจารณาข้อมูลของกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่มีโอกาสได้รับรู้ รับทราบ และพิจารณาข้อโต้แย้ง หลักฐาน และเหตุผลต่าง ๆ ของฝ่ายไทย ซึ่งอาจทำให้คำพิพากษาตีความของศาลเสียประโยชน์ของประเทศไทยได้

—————————

5. กระบวนการพิจารณาของศาลโลกมีขั้นตอนอย่างไรและจะใช้เวลานานเท่าใด

การพิจารณาคำขอของกัมพูชาในเรื่องการตีความคำพิพากษากับเรื่องมาตรการชั่วคราวจะดำเนินการเป็นคนละส่วนกัน โดยจะพิจารณาเรื่องมาตรการชั่วคราวก่อน การพิจารณามาตรการชั่วคราว ศาลได้กำหนดให้มีกระบวนการพิจารณาในรูปแบบการให้การโดยวาจา (oral hearing) ในวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2554 ซึ่งตามแนวทางของศาลจะเป็นกระบวนการที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เว้นแต่ศาลจะเห็นควรพิจารณาแบบปิด หรือคู่กรณีร้องขอ ทั้งนี้ ศาลกำหนดเวลาให้ฝ่ายกัมพูชากล่าวให้การในช่วงเช้าและฝ่ายไทยในช่วงบ่ายของแต่ละวัน รวมเวลาที่แต่ละประเทศจะได้ในการชี้แจงประเทศละประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนผลการพิจารณาของศาล คาดว่าจะทราบประมาณ 1-3 สัปดาห์หลังจากนั้น สำหรับคำขอให้ตีความ หลังจากศาลพิจารณาคำขอของกัมพูชาแล้ว จะกำหนดว่าไทยจะต้องยื่นความเห็นต่อศาลเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อใด ซึ่งอาจจะเป็นประมาณ 4-5 เดือนจากนี้ ทั้งนี้ ปกติศาลจะใช้เวลาดำเนินคดีประมาณ 1-2 ปี

—————————

6. การตีความคำพิพากษาจะมีผลเชื่อมโยงหรือไม่อย่างไรกับเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

คณะกรรมการมรดกโลกได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2551 ก็จริงอยู่ แต่ยังไม่ได้รับรองแผนบริหารจัดการ ซึ่งทำให้กระบวนการยังไม่สมบูรณ์ ไทยได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า แม้ประเด็นมรดกโลกจะเป็นเรื่องทางด้านวัฒนธรรมและอนุสัญญามรดกโลกจะระบุว่าไม่กระทบต่ออธิปไตยหรือเขตแดนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ แผนบริหารจัดการซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทก็จะไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าไทยกับกัมพูชาจะตกลงกันในเรื่องเขตแดนได้ก่อน คณะกรรมการมรดกโลกจึงควรชะลอการพิจารณาออกไปก่อน คำขอของกัมพูชาที่ยื่นต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษามีการกล่าวถึงพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารซึ่งจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ในแผนการบริหารจัดการสำหรับปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาด้วย เรื่องนี้จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า คณะกรรมการมรดกโลกควรชะลอการพิจารณาเรื่องแผนบริหารจัดการดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าศาลโลกจะพิจารณาคำขอของกัมพูชาเสร็จ

—————————

7. รัฐบาลไทยได้เตรียมการอย่างไรบ้างแล้ว

รัฐบาลไทยได้เตรียมการล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากได้คาดการณ์ไว้แล้วว่ากัมพูชาอาจจะยื่นคำขอตีความคำพิพากษาของศาลโลก โดยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาของศาลโลกและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กัมพูชายื่นคำขออย่างเป็นทางการ รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย ประกอบด้วยเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นตัวแทน (Agent) อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นรองตัวแทน ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศสัญชาติฝรั่งเศส ออสเตรเลียและแคนาดา รวม 3 คนเป็นทนายความ และที่ปรึกษา อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และเจ้ากรมแผนที่ทหาร นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้วเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการพิเศษนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และมีผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมด้วย

—————————

8. บทบาทของตัวแทน (Agent) คืออะไร

ตัวแทน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐ เป็นเสมือนหัวหน้าของคณะทูตที่มีอำนาจในการดำเนินการที่มีผลผูกพันรัฐของตน โดยตัวแทนจะได้รับการติดต่อจากนายทะเบียนศาลในเรื่องที่เกี่ยวกับคดี และส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่ได้รับการลงนามและรับรองถูกต้องให้กับนายทะเบียนศาล ในการพิจารณาคดี ตัวแทนจะกล่าวเปิดคดีโดยการกล่าวข้อโต้แย้งในนามรัฐบาลของตน พร้อมทั้งเสนอคำฟ้อง โดยทั่วไป การกระทำใด ๆ ที่รัฐต้องการให้มีขึ้นอย่างเป็นทางการก็จะกระทำโดยตัวแทน ซึ่งในบางครั้งตัวแทนก็สามารถได้รับการช่วยเหลือ/สนับสนุนจากตัวแทนร่วม รองตัวแทน หรือผู้ช่วยตัวแทนได้ และมีที่ปรึกษาหรือทนายที่ให้คำปรึกษาด้วยเสมอ โดยปกติ รัฐมักจะแต่งตั้งนักการทูตชั้นผู้ใหญ่เป็นตัวแทนในคดี เช่น เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ดังที่ไทยเคยแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกสำหรับคดีปราสาทพระวิหารในปี 2505

—————————

9. ทำไมจึงเลือกที่จะแต่งตั้งคนสัญชาติฝรั่งเศสเป็นที่ปรึกษากฎหมาย

การเลือกที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาจากความเชี่ยวชาญ ความรู้และประสบการณ์กับความยอมรับนับถือ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับสัญชาติ บุคคลที่รัฐบาลไทยเลือกเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ล้วนเป็นศาสตราจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการกฎหมายระหว่างประเทศ และมีประสบการณ์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนระหว่างประเทศทั้งทางบกและทะเลหลายคดี อีกทั้งเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission) ซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญที่ดูแลรับผิดชอบการจัดทำประมวลและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว การเลือกทนายความสัญชาติฝรั่งเศสมีความจำเป็นเนื่องจากเอกสารทางกฎหมายในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส และในการดำเนินคดี ก็จำเป็นต้องมีบุคคลที่มีความเข้าใจแนวคิดทางกฎหมายฝรั่งเศสเป็นอย่างดี

—————————

10. ผู้พิพากษาเฉพาะกิจ (Judge ad hoc) คืออะไรและมีบทบาทอย่างไร

ผู้พิพากษาเฉพาะกิจเป็นผู้พิพากษาที่ประเทศคู่ความในคดีเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พิพากษาศาลโลกในกรณีที่ไม่มีคนชาติของประเทศคู่ความเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาศาลในคดีนั้น ๆ ซึ่งประเทศคู่ความสามารถเลือกผู้พิพากษาเฉพาะกิจที่เป็นคนชาติของตนหรือคนชาติอื่นได้ (ข้อ 31 ของธรรมนูญศาลโลก) ผู้พิพากษาเฉพาะกิจมีสิทธิ/หน้าที่เสมือนเป็นผู้พิพากษาศาลโลกในคดีในทุกประการ ซึ่งหมายถึงจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีด้วย ผู้พิพากษาเฉพาะกิจจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ เพราะไม่ใช่ผู้แทนของประเทศที่ได้เลือก แต่ในทางปฏิบัติ ผู้พิพากษาเฉพาะกิจจะมีบทบาทถ่ายทอดมุมมองของประเทศที่ได้เลือกตนให้แก่ผู้พิพากษาคนอื่น ๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะมีผลต่อคำพิพากษาในที่สุด

—————————

11. ทำไมจึงเลือกที่จะแต่งตั้งคนสัญชาติฝรั่งเศสเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจ (Judge ad hoc)

รัฐบาลได้ทาบทามผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจของฝ่ายไทย เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นนักกฎหมายที่ได้รับการยอมรับและมีแนวคิด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของคณะที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายไทย อีกทั้งยังเข้าใจแนวคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศส คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ผู้พิพากษาท่านนี้เหมาะสมต่อการทำหน้าที่ดูแลคดีและประสานงานระหว่างคณะที่ปรึกษากฎหมายฯ และคณะดำเนินคดีของฝ่ายไทย กับผู้พิพากษาของศาลโลก นอกจากนี้ ในด้านประสบการณ์ ผู้พิพากษาเฉพาะกิจของฝ่ายไทยยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เคยเป็นที่ปรึกษาและทนายความ รวมทั้งเคยทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจในคดีที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนในศาลโลกหลายคดี และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย

—————————

12. การแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจ (Judge ad hoc) ทั้งที่ศาลโลกมีผู้พิพากษาประจำเป็นสัญชาติฝรั่งเศสอยู่แล้ว ขัดกับกฎระเบียบและธรรมนูญของศาลโลก ซึ่งห้ามไม่ให้มีผู้พิพากษาสัญชาติเดียวกันเกิน 1 คน หรือไม่

ธรรมนูญของศาลโลกเปิดโอกาสให้ประเทศคู่ความในคดีเลือกผู้พิพากษาเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะคดีนั้นได้ หากประเทศนั้นไม่มีผู้พิพากษาสัญชาติตนอยู่ในองค์คณะของผู้พิพากษาประจำของศาลโลกที่มีอยู่ 15 คน โดยสามารถเลือกแต่งตั้งบุคคลสัญชาติใดก็ได้ ซึ่งคุณสมบัติของผู้พิพากษาเฉพาะกิจที่ระบุไว้ในข้อ 31 ของธรรมนูญศาลโลกนั้นไม่ได้รวมถึงข้อจำกัดเรื่องสัญชาติ ดังนั้น จึงถือเป็นคนละกรณีกันกับการเลือกตั้งผู้พิพากษาประจำศาลโลกที่มีการระบุในข้อ 3 ของธรรมนูญศาลโลกว่า ศาลโลกประกอบด้วยผู้พิพากษาที่จะต้องไม่มีสัญชาติซ้ำกัน

—————————

กรมสารนิเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ

20 พฤษภาคม 2554

:: ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mfa.go.th/tcs ::

SHARE

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่งจัดพิธีเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๕