นายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อุปทูต ณ กรุงปักกิ่ง เป็นประธานในงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันคล้าย
วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เวลา 18.30 – 20.30 ณ โรงแรม China Worldสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง นายหลิว จินซง อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นแขกเกียรติยศ พร้อมด้วย คณะทูตานุทูต ผู้แทน กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ พลตรี จ้าว เล่ย รองเสนาธิการทหารบก People’s Liberation Army (PLA) ผู้แทนสมาคมและองค์การระหว่างประเทศ นักธุรกิจ สื่อมวลชนจีน ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ และสำนักงานทีมประเทศไทย พนักงานของรัฐ พร้อมคู่สมรส ผู้บริหารภาคเอกชนไทยและชุมชนไทยที่พำนักในกรุงปักกิ่ง
อุปทูตฯ กล่าวในพิธีเปิดว่า วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวาระสำคัญของชาติ 3 ประการ ได้แก่
วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ โครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาดินและน้ำทำให้พระองค์ได้รับการถวายพระเกียรติคุณจากองค์การสหประชาชาติ โดยกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันดินโลก
ในโอกาสเดียวกัน อุปทูตฯ ได้กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 48 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-จีน และยังเป็นวาระสำคัญแห่งการครบรอบ 10 ปีความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน อีกทั้งผู้แทนระดับสูงของทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 50 และการเสด็จฯ เข้าร่วมมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ นครหางโจว ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
นอกจากนี้ อุปทูตฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จของการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และคณะในการเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีนในทุกระดับ พร้อมย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะผลักดันความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของจีนเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่อัตลักษณ์ไทย 5F ได้แก่ F-Food, F-Film, F-Fashion, F-Fighting หรือ มวยไทย
และ F-Festival เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและกระชับความสัมพันธ์ในระดับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความไว้เนื้อเชื่อใจและสนับสนุนเกื้อกูลกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงสายใยและน้ำใจของชาวไทยและชาวจีน ในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและอื่นๆ ระหว่างไทย-จีน มีพลวัตรอย่างต่อเนื่อง โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยจากจีนมีมูลค่ารวม 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว การบรรเลงบทเพลง
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอุดลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณ รวมทั้งเผยแพร่พระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนชาวจีนและไทยในกรุงปักกิ่ง
นอกจากนี้ เพื่อนำเสนออัตลักษณ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ภายในงานมีการออกร้านอาหารไทยในกรุงปักกิ่ง 20 ร้านค้า รวมทั้งการสนับสนุนวัตถุดิบคุณภาพของไทยจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประเทศจีน และมีการบริการเครื่องดื่มแบรนด์ไทย ได้แก่ กระทิงแดง เบียร์สิงห์ และเบียร์ช้าง ตลอดจนการจัดแสดงแกะสลักผลไม้ไทย เพื่อส่งเสริมการทูตวัฒนธรรมผ่านอาหาร อัตลักษณ์ และดนตรี ถือเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทย ธุรกิจสินค้าไทย
และอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่นิยมในสายตาประชาชนจีนและกลุ่มมิตรประเทศของไทย (Friends of Thailand) ในวงกว้าง