เอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นวิทยากรร่วมในการอภิปราย แก่คณะผู้รับการฝึกอบรมนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง รุ่นที่ 63

เอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นวิทยากรร่วมในการอภิปราย แก่คณะผู้รับการฝึกอบรมนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง รุ่นที่ 63

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 เวลา 09.00-10.30 น. นายธีรกุล นิยม เอกอัครราชทูต ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมในการอภิปรายหัวข้อ “ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน” แก่คณะผู้รับการฝึกอบรมนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง รุ่นที่ 63 จำนวน 115 คน ณ โรงแรม Holiday Inn Chang An West Beijing โดยมีนายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัครราชทูต สำนักงานฝ่ายพาณิชย์ และนางอุไร สุวรรณวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ฯ ร่วมเป็นวิทยากรด้วย

เอกอัครราชทูต ฯ บรรยายสรุปภาพรวมพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา และกล่าวถึงจุดเด่นของจีน คือ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจีนมีความมั่งคั่งและขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ตั้งแต่ปี 2553 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี โดยมีนโยบายที่เน้นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศและนวัตกรรม ด้านความมั่นคง จีนเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงของสหประชาชาติ กองทัพปลดปล่อยประชาชน ฯ (People’s Liberation Army – PLA) เป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนจึงเป็นมหาอำนาจในเอเชียและมีนโยบายที่จะเพิ่มบทบาทในกจิการของภูมิภาคและโลกในทุกด้าน ด้านสังคม จีนเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสร์ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่หลากหลายโดยมีกลุ่มชนชาติทั้งหมด 56 ชนชาติ ส่วนด้านการบริหารประเทศ จีนอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เป็นระบบการเมืองแบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง และมีการเลือกผู้นำอย่างมีระบบ ซึ่งได้รับความชอบธรรมจากประชาชนจีน เนื่องจากสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างเสถียรภาพ ฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของจีน ตลอดจนเป็นศูนย์รวมของประเทศ

เอกอัครราชทูต ฯ ได้กล่าวเรื่อง การประชุม “สองสภาฯ ” ของจีน ได้แก่ สภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress-NPC) และสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference-CPPCC) ระหว่างวันที่ 3-15 มีนาคม 2558 ที่รายงานผลงานและแผนปฎิบัติของรัฐบาลจีน และหลักทฤษฎีการเมืองใหม่ “สี่ด้านถ้วนทั่ว” (Four comprehensives) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้แก่ สร้างสังคมมีกินแบบพอเพียง ลงลึกการปฏิรูป ปกครองประเทศตามหลักนิติรัฐ และเข้มงวดวินัยพรรคคอมมิวนิสต์ ฯ อันถือเป็นนโยบายที่มีนัยเชิงสำคัญทางการบริหารประเทศภายใต้แกนนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เอกอัครราชทูต ฯ เห็นว่า จีนสามารถพัฒนามาถึงปัจจุบัน เนื่องจาก (1) นโยบายที่ต่อเนื่องตามการกำหนดชี้นำ/การบริหารโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมสำหรับประเทศ (2) เป็นประเทศที่มีการสะสมทางภูมิปัญญา (3) คนจีนโดยรวมมีความสามารถด้านการค้าขาย (4) จีนได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ พื้นที่ในการผลิต จำนวนแรงงาน/บุคคลากร และทรัพยากร และ (5) จีนเน้นการพัฒนาและปฎิรูปการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนความเป็นจริง ขณะเดียวกัน จีนก็เผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม มลภาวะสิ่งแวดล้อม คอรัปชั่น การรักษาความชอบธรรมของพรรค ฯ และระบบการเมืองที่ยังปิดขัดกับกระแสโลกาภิวัฒน์ ตลอดจนบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการหาจุดสมดุลกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ หรือกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต ฯ ยังได้บรรยายสรุปเรื่อง ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งดีในทุกมิติ และปีนี้ เป็นปีมหามงคล เนื่องจากเป็นปีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระชนมายุครบ 5 อีกทั้งเป็นปีครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ซึ่งจะเป็นโอกาสดีในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในมิติต่าง ๆ อาทิ โครงการความร่วมมือด้านรถไฟ จีนให้ความสำคัญไทย ในฐานะประเทศหุ้นส่วนทางยุธทศาสตร์อย่างรอบด้าน และมีบทบาทสำคัญในกรอบอาเซียน ซึ่งเกี่ยวโยงกับนโยบายต่างประเทศของจีน โดยเฉพาะการส่งเสริมเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 และความเชื่อมโยง (connectivity) ในภูมิภาค ที่สำคัญ ไทยไม่เคยมีข้อบาดหมางรุนแรง อย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพด้านเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบัน ทำให้จีนมีทางเลือกมากขึ้นในการมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่สามารถเกื้อกูลผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นไทยจำเป็นไม่ละเลย โดยจำเป็นรักษาและเสริมสร้างสถานะ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป

ในช่วงหลัง เอกอัครราชทูต ฯ ได้ตอบคำถามจากคณะในประเด็นที่หลากหลายเกี่ยวกับจีน และความสัมพันธ์ไทย-จีน

SHARE

กิจกรรมจิตอาสา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567 และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมปักกิ่งฉงซ่านตี้ วันที่ 27 สิงหาคม 2567

เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง นำทีมข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง พร้อมด้วยนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของจีน เข้าชมภาพยนตร์ “หลานม่า” รอบพิเศษ ณ โรงภาพยนตร์ Emperor Cinema กรุงปักกิ่ง