เมื่อวันที่12 มีนาคม 2566 นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เป็นประธานในพิธีเปิด
งานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2566 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการส่งเสริม 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก
โดยมีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 6,000 คน ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศจีนและภริยา ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศจีน เลขาธิการศูนย์อาเซียน-จีน ผู้บริหารภาคเอกชนไทยในจีน สื่อมวลชนจีนมากกว่า 50 สำนักข่าว ตลอดจนชุมชนไทยและชาวจีนในกรุงปักกิ่ง
งานเทศกาลไทยถือเป็นงานเผยแพร่วัฒนธรรมไทยแห่งปีที่มีการรวมตัวของร้านอาหารไทยทั่วกรุงปักกิ่งที่มากที่สุดโดยในงานมีอาหารไทยให้เลือกสรรมากกว่า 50 เมนู และมีสินค้าไทยให้เลือกซื้อมากกว่า 100 รายการ จากผู้ประกอบการไทย บริษัทนำเข้าสินค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชนของหอการค้าไทยในจีน รวมทั้งภายในงานยังมีการออกร้านจากสำนักงานทีมประเทศไทย ทั้งการจัดตลาดช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่ และถนนนางงาม จังหวัดสงขลา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปักกิ่ง การจำลองตลาดย้อนยุค โดยสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไทยหลากหลายประเภท ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจาก “Thailand Food Country” บนแพลตฟอร์ม Tmall Official Store การออกร้านผลไม้ไทยจากเครือข่ายผู้ประกอบการของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อให้กลุ่มชาวจีนได้เลือกซื้อผลไม้ไทยตามฤดูกาล และยังเป็นโอกาสในการสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลไม้ไทยในกลุ่มชาวจีน ตลอดจนการออกร้านเพื่อส่งเสริมความนิยมผ้าไทยร่วมกับสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในจีนและสำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร ณ กรุงปักกิ่ง
อีกหนึ่งความพิเศษของงานเทศกาลไทยในปีนี้ คือการให้เด็ก ๆ ได้เข้าร่วมสัมผัสบรรยากาศเกมส์แบบไทย ๆ ทั้งเกมส์ตักไข่ สอยดาว โยนห่วง พร้อมสนุกกับการละเล่นพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทยควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากฝ่ายวิทยาศาสตร์ฯ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ถือเป็นการรวมเสน่ห์ของไทยทั้ง 5F ครบจบในงานเดียว
การจัดกิจกรรมเทศกาลไทยยังเป็นการจัดงานในรูปแบบ Hybrid อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อให้คนจีนที่ไม่ได้อยู่ในกรุงปักกิ่ง ยังสามารถร่วมสนุกได้ในรูปแบบออนไลน์ที่ส่งตรงถึงบ้าน โดยในปีนี้มีแพลตฟอร์มวีดิทัศน์สั้นยอดนิยมที่สุดของจีน ได้แก่ Douyin และ Kuaishou ร่วมจัดแคมเปญ “Wonderful Travel in Thailand” ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยความพิเศษของแคมเปญในปีนี้คือการนำ Key Opinion Leaders กว่า 20 คน ไปท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อนำเสนอเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกและความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo 2028 โดยแคมเปญดังกล่าวจะจัดจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2566
นอกจากนี้เพื่อตอบสนองต่อกระแสความนิยมในการซื้อสินค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของไทยสามารถเข้าถึงชาวจีนได้ในทุกช่องทาง สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จับมือกับแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อจัดแพลตฟอร์ม E-Commerce JD ร่วมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยใน Thai National Pavilion ด้วย อีกหนึ่งความพิเศษของปีนี้คือการถ่ายทอดสดบรรยากาศงานเทศกาลไทยใน Facebook เพจ China Face โดย China Media Group เพจโอ้โห Beijing- สารพัดเรื่องในปักกิ่ง และเพจสะใภ้จีน by ฮูหยินปักกิ่ง เพื่อให้ชาวไทยได้ร่วมรับชมบรรยากาศภายในงานด้วย
สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยในปีนี้ได้เชิญนาย กรชิต และ แพทริค ณัฐวรรธ์ นักร้องไทยชื่อดังในจีน ซึ่งเป็นสมาชิกวง INTO1 ร่วมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายใต้เทศกาลไทยเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและชื่นชมของชาวจีนในวงกว้าง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจน #PaiPaixRTEBeijing ติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ของไทย (ณ วันที่ 11 มีนาคม 2566)และ #PatrickThaiFest2023 ติดอันดับที่ 23 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ทั่วโลกด้วย
ปัจจุบัน งานเทศกาลไทยได้รับการจดจำในฐานะงานวัฒนธรรมไทยประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง จึงทำให้ชาวจีนเฝ้ารอที่จะเข้าร่วมงานทุกปี โดยในวันงานเทศกาลไทย คำว่า #เทศกาลไทย เข้าถึงผู้อ่านจำนวน 71,609,000 ล้านครั้ง และคำว่า #จีนไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน (中泰一家亲) ได้รับการกล่าวถึงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของจีน (Weibo) จำนวนประมาณ 97,934,000 ล้านครั้ง ถือเป็นการกระตุ้นกระแสความนิยมไทยบนสื่อออนไลน์ของจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดงานเทศกาลไทยในปีนี้ มุ่งเน้นต่อยอดและขยายความนิยมไทยในกลุ่มชาวจีนในเชิงลึกที่มากกว่าความนิยมด้านอาหาร โดยเน้นการรับรู้และสร้างความนิยมในมิติวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้นและผลักดันการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายความหลากหลายของสินค้าไทยในตลาดผู้บริโภคจีนอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง ในขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญกับการจัดงานเทศกาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้วัสดุและภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อลดขยะและของเสียที่เกิดจากการจัดงาน สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy อีกด้วย