รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระชัย วีระเมธีกุล เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับรัฐมนตรีหัวข้อ Financial Crisis and Economic Recovery for Developing Countries ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2553

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระชัย วีระเมธีกุล เข้าร่วมกล่าวปาฐกถาในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับรัฐมนตรีหัวข้อ Financial Crisis and Economic Recovery for Developing Countries ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2553

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวีระชัย วีระเมธีกุล เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับรัฐมนตรีหัวข้อ Financial Crisis and Economic Recovery for Developing Countries ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) และมีผู้เข้าร่วมงานระดับรัฐมนตรีจากประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญทั้งจากภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกากว่า 15 ประเทศ และผู้เข้าร่วมการสัมมนาอื่นๆ อีกกว่า 300 คน รวมทั้งนายมาร์ค โอบามา เดซานโจ เข้าร่วมงาน
การประชุมดังกล่าวมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน นายฟู่ จืออิ้ง เป็นประธานเปิดงาน

โดยรัฐมนตรีวีระชัยฯ ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาเชิงนโยบายเกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค ทั้งในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ธุรกิจต่อธุรกิจ และประชาชนต่อประชาชน เพื่อสนับสนุนแรงขับเคลื่อนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ให้สามารถนำพาประเทศต่างๆ ให้เจริญเติบโตพ้นภาวะวิกฤตได้อย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียได้แก่ ความตกลง Chiang Mai Initiative Multilateralization (CMIM) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่จะให้ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาวิกฤตการเงินอย่างฉับพลัน สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมารักษาสภาพคล่องและสถานะของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศตนได้ นับเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชียแบบพหุภาคีสำคัญครั้งแรกที่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ตลาดการเงินในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแนวคิด “connectivity” หรือการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคคมนาคมพื้นฐานเป็นโครงข่ายสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนไปมาหาสู่และเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้มีนักวิชาการจีนชั้นนำมาให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะวิกฤตและรักษาสภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยทุกฝ่ายยอมรับว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายประการที่อาจทำให้อัตราการเติบโตหยุดชะงักได้ ดังที่เห็นวิกฤตการเงินของกรีซเป็นตัวอย่าง ส่วนในแง่มุมของนักวิชาการจีนเห็นว่า จีนมีปัจจัยหลายประการที่สนับสนุนความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น ความสามารถในการกระจายเงินทุนภาครัฐที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่วถึง และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทั่วประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ใช้การควบคุมสินเชื่อและการบริหารจัดการสภาพคล่องของสถาบันการเงินเพื่อรักษาสมดุลของเศรษฐกิจมหภาคด้วย

SHARE