นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เป็นประธานในงานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติไทย ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลา 12.00 – 14.00 ณ ห้องรัตนไมตรีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง โดยมีนายหลิว จิ้นซง อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นแขกเกียรติยศ และผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ประกอบด้วย คณะทูต ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีน มิตรประเทศไทย สื่อมวลชนจีน ผู้แทนภาคเอกชนไทยตลอดจนชุมชนไทยในกรุงปักกิ่ง
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวในพิธีเปิดว่า วันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปีเป็นวาระสำคัญของชาติ 3 ประการ ได้แก่วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ โครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาดินและน้ำทำให้พระองค์ได้รับการถวายพระเกียรติคุณจากองค์การสหประชาชาติซึ่งกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันดินโลก
ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกระดับ ผู้แทนระดับสูงของทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ รัฐมิตราภรณ์ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นอกจากนี้ ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความไว้เนื้อเชื่อใจและสนับสนุนเกื้อกูลกันมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงสายใยและน้ำใจของชาวไทยและชาวจีน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระราชทานเวชภัณฑ์ทางการแพทย์มาช่วยเหลือชาวอู่ฮั่น และเมื่อการแพร่ระบาดลุกลามไปยังไทย รัฐบาลและภาคประชาสังคมจีนได้บริจาคสิ่งของและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้แก่ฝ่ายไทยเช่นกัน
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและอื่นๆ ระหว่างไทย-จีน มีพลวัตรอย่างต่อเนื่อง โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างทั้งสองประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยจากจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17
ปี 2564 ถือเป็นวาระสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ โดยเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในขณะที่ไทยได้รับหน้าที่ในฐานะเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาค
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว การบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอุดลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดยวงดนตรี Quartet
นอกจากนี้ ภายในงานมีการออกร้านอาหารไทยในกรุงปักกิ่ง ธุรกิจสินค้าและบริการของไทยจำนวน 25 ร้าน ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม เฟอร์นิเจอร์ หมอนยางพารา เครื่องปรุงอาหาร รวมทั้งการจัดแสดงแกะสลักผลไม้ไทย การชิมผลไม้ประเภทต่าง ๆ และการเลี้ยงรับรองอาหารไทยโดยทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ
ตลอดจนการแสดงเดี่ยวระนาดคู่กับกีต้าร์ บรรเลงเพลงไทยเพื่อส่งเสริมการทูตเชิงวัฒนธรรมผ่านการนำเสนอดนตรีและละครไทย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงาน ถือเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทย ธุรกิจสินค้าไทย และอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น